Me

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ลักษณะของผู้นำคุณภาพ


        อลิสโตเติล กล่าวว่า "Quality is not an action ,it is a habit" 
           คุณภาพไม่ใช่สิ่งที่เป็นเพียงการปฏิบัติในครั้งหนึ่งครั้งใดเท่านั้น แต่ต้องทำจนเป็นนิสัยต่อเนื่องในการปฏิรูปการศึกษาของไทย  จะสังเกตุเห็นว่าปัจจุบันทุกคนตื่นตัวกันมาก ทั้งผู้บริหาร ครู อาจารย์   ผู้ปกครอง  ตลอดจนประชาชนและสังคมโดยมากจะมุ่งเน้นในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างทางการบริหาร  การปฏิรูปหลักสูตร  การปฏิรูปครู และลงไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ของนักเรียน   เพื่อไปสู่เป้าหมายด้านคุณภาพการศึกษา   รวมทั้งยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมกับสากล     แต่ในส่วนที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาและนับว่า สำคัญ ซึ่งได้แก่ คุณภาพของผู้นำ ยังมิได้นำมาพิจารณากันสักเท่าใดนัก ส่วนใหญ่มุ่งเน้นในการจัดการอบรมและหาวิธีการคัดเลือก  เพื่อจัดบุคลากรรองรับตำแหน่งบริหารในโครงสร้างใหม่     ผู้บริหารบางคนก็กังวลใจเกี่ยวกับการถูกยุบโอนไปในตำแหน่งที่ตนไม่ถนัด   โดยมิได้ใส่ใจในการพัฒนาคุณภาพของตนเอง   เพื่อให้เป็นเพชรที่ส่องประกายแวววาวเพื่อให้คนนำไปใช้อย่างทรงคุณค่า  ซึ่งในการปฏิรูปการศึกษานั้นผู้นำนับว่ามีความสำคัญที่นำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพการศึกษา   ผู้นำยุคใหม่ที่เน้นการปฏิรูปจึงต้องเป็นผู้นำคุณภาพเพราะผู้นำที่ไม่มีความรู้ความสามารถ   ขาดความเข้าใจในด้านคุณภาพแล้วอาจจะนำองค์กรสู่ความล้มเหลวและหลงทางได้    ซึ่งลักษณะของผู้นำคุณภาพมีดังต่อไปนี้
Ø                  เป็นผู้นำวิสัยทัศน์ (visionary Leadership) และสามารถกระจายวิสัยทัศน์ไปยังบุคคลต่าง ๆ ได้

                  
ในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า " Without vision the people perished" โดยให้ความสำคัญของวิสัยทัศน์ว่า ถ้าผู้นำขาดวิสัยทัศน์ ประชาชนก็สาบสูญ " ซึ่งนับว่าวิสัยทัศน์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหาร  ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์จึงต้องมีความรู้และประการณ์ในการบริหารเป็นอย่างดี  ต้องรู้จักสะสมความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ  มั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ   รวมทั้งต้องมองการณ์ไกล  สามารถวางแผนระยะยาว  ( Long term plan ning )  สามารถแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาด   เปลี่ยนวิกฤติสู่โอกาสได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญ  สามารถวางแผนกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงองค์การให้เจริญก้าวหน้าและอยู่รอดปลอดภัย สามารถต้านทานต่อวิกฤติการณ์ที่มากระทบได้อย่างมั่นคง  ผู้นำวิสัยทัศน์จึงมีลักษณะดังนี้

          1. ผู้นำต้องกำหนดวิสัยทัศน์ได้อย่างชัดเจน  และสามารถกระจายวิสัยทัศน์ไปยังบุคคลากรอื่นเพื่อให้เกิดการยอมรับ
          2. ผู้นำสามารถกำหนดเป้าหมายร่วมกับบุคคลากรได้อย่างชัดเจน

          3. ผู้นำร่วมกับบุคคลากรกำหนดพันธกิจร่วมกัน  เพื่อเป็นทิศทางในการดำเนินงาน
          4. ผู้นำร่วมกับบุคคลากร กำหนดยุทธศาสตร์ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น
Ø                  ใช้หลักการกระจายอำนาจ ( Empowerment ) และการมีส่วนร่วม
Participation )

          
ผู้นำคุณภาพ  คงมิใช่ผู้นำแบบอัศวินที่มีลักษณะเก่งคนเดียว  ทำงานคนเดียว  ผู้นำจึงถือคติที่ว่า " Two   heads  are  better  than  one." รู้จักทำงานเป็นทีม   ซึ่งที่จริงแล้วการทำงานเป็นทีมเป็นจุดแข็งของคนไทยทีเดียว  เพราะได้รับการสั่งสมจากวัฒนธรรมประเพณีแต่ดั้งเดิม   สังเกตการทำงานจะช่วยเหลือกันอุปถัมภ์ค้ำจุนกัน   รวมทั้งประเพณีไทยต่าง ๆ เน้นความสามัคคี  และทำงานเป็นกลุ่มทั้งสิ้น   แต่เมื่อเรารับอารยธรรมตะวันตกมามาก    ทำให้คนไทยเป็นปัจเจกชนมากขึ้น  ทำงานแบบตัวใครตัวมัน  ผู้นำจึงสมควรส่งเสริมให้บุคคลากรทำงานเป็นทีม   โดยเฉพาะผู้นำคุณภาพจะต้องเป็นผู้จุดประกายในด้านนี้  ในขณะเดียวกันผู้นำต้องหยั่งรู้ลักษณะบุคคลากรว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ความคิด   ความเชื่อ   ความสามารถในด้านใด    เพื่อมอบหมายงานให้ตรงกับความถนัดของแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม   สามารถกระจายงาน   กระจายอำนาจให้ทั่วถึงและเป็นธรรมรวม   ทั้งมีหลักเกณฑ์การพิจารณา    เพื่อให้ทุกคนยอมรับและที่สำคัญการเปิดโอกาศให้บุคคลากรมีส่วนร่วมในการทำงาน   ก็นับว่าเป็นการผูกมัดใจให้ทุกคนทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่เป้าหมาย   โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้บทบาทของนักเรียนและผู้ปกครอง ตลอดจนชุมชนนั้น    ถือว่าเป็นลูกค้าที่สำคัญ ผู้นำคุณภาพจึงต้องให้ความสำคัญของลูกค้าเป็นพิเศษ (Customer Focus) ทั้งในด้านการฟังเสียง  การฟังความคิดเห็น  รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการพัฒนาโรงเรียน แต่ขณะเดียวกันผู้นำพึงตระหนักในงานและควรจัดลำดับความสำคัญไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ    หรือในเรื่องคอขาดบาดตายก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้นำ  ในการตัดสินใจชี้ขาดและคงไม่โยนภาระหน้าที่ไปให้บุคคลากรทุกเรื่อง

Ø                  เป็นผู้มีความสัมพันธ์กับบุคลากร ทั้งภายในและนอกองค์กร

          
การสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับบุคลากร ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อหน่วยงานเป็นผลทางด้านจิตวิทยา  ทำให้ทุกคนเกิดการยอมรับ ศรัทธา   การสร้างความสัมพันธ์กับบุคลากรในโรงเรียน ทั้งครูและนักเรียน  ทำให้ทราบถึงความรู้สึก  ความคิด  ความเชื่อ  ของแต่ละคน  ช่วยลดช่องว่างและความขัดแย้งในการบริหารการจัดการ    การใช้เทคนิคแบบ MBWA (Managing by Wandering Around)  นับว่าสามารถนำไปใช้ได้เป็นอย่างดี    ซึ่งผู้บริหารจะต้องไม่ยึดติดกับห้องแอร์   ต้องหมั่นเดินดูการปฏิบัติงานของบุคลากร    รวมทั้งคอยให้คำชี้แนะและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด    ซึ่งเป็นการเดินอย่างมีจุดหมาย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนางานให้เจริญก้าวหน้า โดยมิได้มุ่งจับผิดแต่ประการใด
           นอกจากนี้การสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง ช่วยทำให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนดีขึ้น เพราะสามารถวางแผนส่งเสริมและแก้ปัญหานักเรียนได้เป็นอย่างดี   ขณะเดียวกัน ถ้าผู้บริหารสามารถสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชุมชน  ก็จะช่วยระดมทรัพยากรทั้งด้านบุคลากร  สื่ออุปกรณ์ งบประมาณ ฯลฯ  มาสร้างสรรค์พัฒนาโรงเรียนได้อย่างมีคุณภาพ  และทัดเทียมกับโรงเรียนอื่นๆ โดยไม่ต้องรองบประมาณจากต้นสังกัด

Ø                  มีความมุ่งมั่นในการทำงาน

           
ขงจื้อกล่าวว่า " แม่ทัพที่มีความสามารถอาจถูกแย่งไปด้วยกำลัง แต่ความมุ่งมั่นไม่สามารถแย่งชิงไปได้ "   ผู้นำคุณภาพจึงต้องมีความมุ่งมั่นในการทำงาน   ขณะเดียวกันต้องตั้งความหวังไว้สูง (High   Expectation) เพื่อให้เกิดผลงานที่ดีที่สุด   นอกจากนี้การทำงานต้องเน้นที่ผลงานเป็นหลัก (Result Oriented)  สังเกตจากผู้นำที่ประสบความสำเร็จ   จะต้องมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อให้งานประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย    ความมุ่งมั่นจะประกอบด้วยความวิริยะ  อุตสาหะ  เพราะในการทำงานย่อมมีอุปสรรคและปัญหาคอยทำลายความตั้งใจ และสมาธิ  ขนาดพระพุทธองค์ยังมีมารมาผจญ   นับประสาอะไรกับปุถุชน   ย่อมมีอุปสรรคอย่างแน่นอน    โดยเฉพาะสังคมไทยที่ได้รับการปลูกฝังจากนวนิยายหรือละครน้ำเน่าที่มีแต่ความอิจฉาริษยา  เพลิงแค้น หรือใครได้ดีเป็นไม่ได้ต้องคอยจ้องทำลายกันอยู่ตลอด    แต่ผู้นำคงไม่ย่อท้อต่อขวากหนามที่มาขวางกั้น   พึงระลึกถึงคำกล่าวของหลวงวิจิตรวาทการที่ว่า " ชีวิตคือการต่อสู้  ศัตรูคือยากำลัง  อุปสรรค  และปัญหาคือหนทางแห่งความสำเร็จ "  ซึ่งต้องเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรเราต้องมองว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรานั้น เป็นไม้บรรทัดวัดความอดทนและความมุ่งมั่นในการทำงานของเรา นอกจากนี้ลองสังเกตง่ายๆ ว่า ถ้าว่าวจะขึ้นได้ต้องมีลมต้าน ปลาเป็นย่อมว่ายทวนน้ำ    มีแต่ปลาตายเท่านั้นที่ลอยตามน้ำ    ถ้าผู้นำใช้ความมุ่งมั่นและทุ่มเท โดยดำเนินงานไปสู่เป้าหมายได้ก็นับว่าเป็นผู้นำคุณภาพอย่างภาคภูมิใจ
        
Ø                  ผู้นำคุณภาพจะต้องมีความรู้ความสามารถในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีและใช้ข้อมูลสถิติในการวิเคราะห์และตัดสินใจ

           
ซึ่งมีลักษณะเป็นผู้นำนวัตกรรม (Innovation leader ship) มีความสามารถในการจัดการกับความรู้  (Knowedge Mangement) และใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ   รวมทั้งใช้ข้อมูลทางสถิติและงานวิจัยมาประกอบในการตัดสินใจ    ผู้นำต้องใช้การบริหารที่ยึดความจริงเป็นหลัก   โดยไม่ใช้ความรู้สึก  (Leading by fact, not leading by feeling) ต้องกล้าพูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาไม่ปิดปัญหาการบริหาร   แบบปัดฝุ่นไว้ใต้พรมต้องหมดไป   ผู้นำต้องนำปัญหามาวางแผนแก้ไขโดยใช้งานวิจัยเป็นตัวตั้ง   การแก้ไขแบบสร้างวิมานในอากาศคงจะช่วยอะไรไม่ได้มาก   การใช้คำขวัญและคติพจน์  สุภาษิต  เป็นเพียงแรงเสริมกระตุ้นให้เกิด   ความรู้สึก และกำลังใจในการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่สามารถบ่งบอกทิศทางในการบริหารได้อย่างแม่นยำ  แต่สิ่งที่นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการบริหารและการจัดการ คือ  การเก็บข้อมูลอย่างครบถ้วนตามระยะเวลาที่เหมาะสม  และนำมาวิเคราะห์อย่างชาญฉลาดด้วยเครื่องมือที่น่าเชื่อถือและเที่ยงตรง   เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพยากรณ์   ด้วยอาศัยหลักแห่งความน่าจะเป็น นับว่ามีประโยชน์ต่อการบริหารอย่างแท้จริง และเพียงระลึกเสมอว่า "คุณภาพมิใช่เรื่องบังเอิญ   แต่คุณภาพเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ "

Ø                  ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือลูกน้อง

          
ลักษณะของผู้นำคุณภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ  ต้องสนับสนุนและช่วยเหลือลูกน้องทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนรวม    ในด้านส่วนตัวผู้นำต้องให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ลูกน้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ    ผู้นำต้องหาความช่วยเหลืออย่างทันที   ในกรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือด้วยตนเอง   ก็ควรแนะนำและชี้ทางให้ ไม่ควรปฏิเสธอย่างขาดเยื่อใย    เพราะการที่คนเราจะขอความช่วยเหลือจากใคร มิใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะนิสัยของคนไทยเป็นคนที่เกรงใจผู้อื่นการที่เขาขอความช่วยเหลือจากเรา   แสดงว่าผู้นำได้รับความไว้วางใจจากลูกน้องเป็นอย่างดี    นอกจากนี้ในด้านหน้าที่การงานผู้นำต้องเปิดโอกาสให้ลูกน้องทำงานและสนับสนุนให้ความก้าวหน้าเป็นลำดับ  และต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม   โดยวางมาตรฐานเปรียบเทียบไว้อย่างชัดเจน(Benchmarking) เพื่อให้ทุกคนไปสู่มาตรฐานนั้น   ถ้าใครไปถึงก็สนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าตามลำดับ    ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคน    โดยไม่ให้อภิสิทธิ์เฉพาะกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งและที่สำคัญ   มาตรฐานการเปรียบเทียบนั้นต้องได้รับการยอมรับอย่างทั่วถึง   มิใช่เป็นการสร้างเกณฑ์เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

Ø                  มีความสามารถในการสื่อสาร

           
ผู้นำจะต้องสามารถสื่อสารกับบุคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การทำงานต้องอาศัยหลักการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจสำนวนที่ว่า " ตีฆ้องร้องป่าว" นับว่าเป็นสิ่งที่ดี   เพราะนอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์งานแล้ว   ยังแสดงถึงความโปร่งใส (Transparency) ของการทำงานที่มิได้งุบงิบกันทำ    นอกจากนี้ยังช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำงานและหน่วยงาน   เพื่อให้ทุกคนยอมรับศรัทธาหน่วยงาน   และพร้อมที่จะทำงานด้วยความสุขและปราศจากความกลัว   การสื่อสารที่ดีที่สุด คือ การพูดคุยเจรจาแบบปากต่อปากเพื่อให้เห็นถึงบุคลิกภาพ ความรู้สึกที่จริงใจต่อกัน    การใช้หนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษรในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น   การใช้อวัจนภาษานับว่าเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารเป็นอย่างดี   ผู้นำจึงต้องมีบุคลิกภาพที่ดีมีการพูดจาที่น่าเชื่อถือ   มีวาทศิลป์สามารถพูดจูงใจได้ขณะเดียวกัน   ควรมีลักษณะอ่อนน้อมอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ   ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่ดีต่อการบริหารและการจัดการ   ซึ่งผู้นำที่เข้มแข็งมิได้หมายถึงผู้นำที่แข็งกระด้าง

Ø                  มีความสามารถในการใช้แรงจูงใจ

           การใช้แรงจูงใจในการทำงานนับว่ามีความสำคัญต่อการบริหารและการจัดการเพื่อให้งานประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย    ซึ่งแรงจูงใจนั้นมีทั้งแรงจูงใจภายในและภายนอก   แรงจูงใจภายในจะเกี่ยวกับเรื่องของ    จิตวิญญาณของแต่ละคน ตลอดจนความรู้สึกนึกคิด   ซึ่งไม่สามารถหยั่งรู้ได้อย่างชัดเจน  แต่แรงจูงใจภายนอก    พอจะสามารถแยกแยะได้ว่า บุคคลใดมีความสนใจในเรื่องใด   ซึ่งผู้นำจะต้องศึกษาครูอาจารย์ในฐานะที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา   ว่าเขามีความต้องการสิ่งใดและตอบสนองความต้องการในเรื่องนั้น   เพราะการที่คนจะทำงานเต็มศักยภาพนั้นต้องมีแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้ทำ   บางคนต้องมีสิ่งของรางวัลมายั่วยุจึงจะเกิด   บางคนต้องการความก้าวหน้าในตำแหน่ง   บางคนต้องการความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ แต่บางคนต้องการลาภ ยศสรรเสริญ และได้รับการยกย่องจากบุคคลทั่วไป   
ผู้นำจึงต้องวิเคราะห์แยกแยะบุคลากร  และใช้ความสามารถในการใช้แรงจูงใจ  เพื่อผลักดันให้บุคคลทำงานอย่างเต็มกำลังสามารถ           
Ø                  เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ( Chang Leadership )

           ผู้นำคุณภาพจะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไปสู่ความคิดสร้างสรรค์แบบใหม่   ความคิดที่ออกนอกกรอบหรือกฏเกณฑ์เดิม   เพื่อประยุกต์งานให้เกิดความก้าวหน้า  อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์  กล่าวว่า 
" การแก้ปัญหาในเรื่องเดิม จะต้องใช้วิธีการใหมเท่านั้นจึงจะประสบผลสำเร็จ " ถ้าเรายังมัวย่ำอยู่กับปัญหาเดิม ๆ   โดยไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการมีแต่จะสะสมปัญหาไปเรื่อย ๆ เหมือนดินพอกหางหมู   และในที่สุดก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง     การเปลี่ยนแปลงจึงต้องอาศัยผู้นำที่มีความกล้าหาญและอาศัยความเสี่ยง   เพราะครูอาจารย์และคนที่อยู่รอบข้าง    ย่อมเกิดความกลัวในเรื่องการเปลี่ยนแปลง   บางคนกลัวเสียผลประโยชน์บางคนกลัวว่าจะทำให้การปฏิบัติงานเกิดความยุ่งยากขึ้น บางคนกลัวผลกระทบกับหน้าที่การงานซึ่งผู้นำจะต้องวางแผนระยะยาว   เพื่อแก้ปัญหาในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงลงไป    เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
          สุภาษิตจีนกล่าวว่า "เข้าถ้ำเสือ    จึงจะได้ลูกเสือ"  ผู้นำจึงต้องอาศัยความเสี่ยงในการตัดสินใจต่อความเสี่ยงนั้นจะทำให้งานเกิดความก้าวหน้ายิ่งขึ้น   เพราะการทำงานนอกเหนือจากหน้าที่แล้วได้ผลดี    ถือว่าเป็นงานชิ้นโบแดงที่ควรแก่ความภูมิใจ     ดูตัวอย่างพระเจ้าตากสินที่ให้แม่ทัพนายกองทุบหม้อข้าวแล้วปลุกใจให้ไพล่พลฮึกเหิมเพื่อตีเมืองจันทบุรีเพื่อจะไปกินข้าวในเมืองเป็นต้น    ซึ่งเป็นการใช้หลักของการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้เกิดชัยชนะเป็นต้น   ดังนั้นในปัจจุบันนี้การบริหารที่รอนโยบายหรือ " การทำงานแบบขุนพลอยพยักหรือนายว่าขี้ข้าพลอย "ควรหมดสมัยได้แล้ว   ผู้นำคุณภาพ (Quality Leadership) ควรมีลักษณะเป็นผู้นำวิสัยทัศน์ผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี    การบริหารยึดถือความจริงมากกว่าความรู้สึก  มีความสามารถในการสื่อสารใช้แรงจูงใจในการบริหาร   รวมทั้งเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการพัฒนา   และที่สำคัญผู้นำต้องมีความมุ่งมั่นในการบริหาร   โดยเน้นผลงานเป็นหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปฏิรูปการศึกษา   ผู้นำคุณภาพจำเป็นต้องยึดลูกค้าเป็นสำคัญ    เพื่อตอบสนองความต้องการ  ความจำเป็น    ตลอดจนสร้างความประทับใจเพื่อให้เกิดความพึงพอใจ    โดยเฉพาะผู้เรียนเป็นลูกค้าคนสำคัญ   ผู้นำคุณภาพจึงต้องมีเป้าหมายในการพัฒนา โดยยึดผู้เรียนเป็นหลัก (Learner centred) โดยมีการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง    โดยใช้หลักการทางสถิติและข้อมูลในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง    และสามารถทัดเทียมกับสากลตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น